[ปัตตานีในอดีต]

ฟิล์ม ๓๕ มม. / ขาว-ดำ / เงียบ / ๒๑.๐๓ นาที

[๒๔๗๙]


ภาพยนตร์ขาวดำนิรนามที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบจากครอบครัวนายเนย วรรณงาม เจ้าของสายหนังและโรงหนังเฉลิมวัฒนา แห่งนครราชสีมา มีลักษณะเป็นภาพยนตร์แนะนำจังหวัดปัตตานี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๙ โดยเนื้อหาแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกแสดงสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด น้ำตกทรายขาว ส่วนที่สองถ่ายข้าหลวงในจวน ยังปรากฏให้เห็นบุคคลสำคัญคือ หลวงวิจิตรวาทการ และ พระยาอุดรธานี ศรีโขมสาครเขตต์ ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี (ผู้ว่าราชการ) ในขณะนั้น และขุนเจริญวรเวชช์ หรือ นายแพทย์เจริญ สืบแสง บุคคลซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองในจังหวัดปัตตานีและในระดับประเทศ และยังถ่ายภาพงานออกร้านฉลองรัฐธรรมนูญของจังหวัดปัตตานี ทำให้เห็น การละเล่นต่าง ๆ ของจังหวัด เช่น รองเง็ง มะโย่ง กีฬาพื้นเมือง คือ วัวชน ภาพนางงามปัตตานี ส่วนสุดท้ายคือการบันทึกการซ้อมและแข่งขันการชกมวยไทยคู่เอกของ “สมานและสมพงษ์” (ซึ่งหอภาพยนตร์สันนิษฐานว่าเป็น สมาน ดิลกวิลาศ (สมญานาม Gentleman หรือ สุภาพบุรุษสังเวียน) และ สมพงษ์ เวชสิทธิ์ (สมญานาม ซ้ายปรมาณู) สองยอดมวยไทยชื่อก้องในยุคนั้น)


[ปัตตานีในอดีต] เป็นการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่หาดูได้ยากในยุคปัจจุบัน และน่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์กับนายขุนเจริญวรเวชช์ โดยก่อนหน้าที่พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์จะถูกส่งจากส่วนกลางให้มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีนั้น เขาได้เคยจับกุมคณะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในจังหวัดอุดรธานีขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดอุดรธานีมาก่อน ส่วนขุนเจริญวรเวชช์ ซึ่งเป็นบุคคลที่จังหวัดปัตตานียกย่องให้เป็นผู้สร้างคุณงามความดีให้แก่จังหวัด ได้รับการยกย่องนับถือจากประชาชนชาวปัตตานีอย่างมาก และเมื่อมีการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นอย่างสภาเทศบาล หรือระดับชาติในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขุนเจริญวรเวชช์ ก็ได้รับเลือกตั้งทั้งสิ้น จนกระทั่งในปี ๒๔๙๕ ขุนเจริญวรเวชช์ถูกจับกุมในฐานะ “ขบถสันติภาพ” ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกขังนานถึง ๕ ปี และถูกจับในข้อหาเดียวกันนี้อีกครั้งในปี ๒๕๐๑ จากคณะปฏิวัติ


หมายเหตุ

๑) ชื่อเรื่องที่อยู่ใน […] หมายถึง ภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่มีไตเติ้ลชื่อเรื่องปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ เป็นชื่อที่หอภาพยนตร์ตั้งขึ้นเอง

๒) ข้อมูลภาพยนตร์ที่อยู่ใน […] หมายถึง ข้อมูลที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานขึ้นเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจน และ

๓) ข้อมูลปี พ.ศ. ของภาพยนตร์ที่ออกฉายก่อนการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๘๔ จะนับตามปฏิทินแบบเก่า (๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่)

มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด