เสด็จอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓

ฟิล์ม ๑๖ มม. / ขาว-ดำ / เงียบ / ๘๐ นาที

๒๔๗๓

ผู้สร้าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเสด็จเยี่ยมราษฎร และการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อินโดจีนเป็นจุดหมายที่ ๒ โดยในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้เสด็จพร้อมข้าราชบริพาร พระองค์ทรงบันทึกการเดินทางครั้งนั้นด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ เป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์โดยให้ชื่อเรื่องว่า “เสด็จอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓” ความยาวทั้งสิ้น ๗ ม้วน (ประมาณ ๘๐ นาที) โดยทรงถ่ายตั้งแต่เสด็จจากท่าราชวรดิษฐ์โดยประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรี ในวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ จนกระทั่งวันเสด็จกลับพระนคร โดยรถไฟ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงถ่ายภาพยนตร์โดยละเอียดตลอดการเดินทางกว่าหนึ่งเดือน ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญมากมาย


เช่น ในม้วนที่ ๑ ทรงบันทึกเหตุการณ์การแข่งขันฟุตบอลเชื่อมสัมพันธไมตรี ระหว่างทีมฟุตบอลสยาม กับ ทีมไซ่ง่อน (ซึ่งเป็นทีมผสมระหว่างนักกีฬาญวนและฝรั่งเศส) ในวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ เวลา ๑๗.๐๐ น. ที่สปอร์ตคลับ Cercle Sportif ไซ่ง่อน ทางการของอินโดจีนฝรั่งเศสได้จัดการแข่งขันนี้ขึ้นเพื่อถวายทอดพระเนตรในวโรกาสที่เสด็จเยือนอินโดจีนครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีทอดพระเนตรพร้อมกับ มองสิเออร์ ปากีสแยร์ ผู้สำเร็จราชการแคว้นอินโดจีน การแข่งขันวันนั้นได้กลายเป็นการแข่งขันครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลทีมชาติไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ทีมฟุตบอลในนามทีมชาติไทย หรือ ทีมชาติสยามขณะนั้น ได้ออกไปแข่งขันในต่างประเทศ กับทีมต่างชาติ ครั้งนั้นนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติสยาม ประดับตรา “พระมหามงกุฎ” การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด บนสนามดิน ครึ่งแรกนักฟุตบอลไทยหกล้มหัวเข่าเคล็ดเป็นเหตุให้ต้องออกจากการแข่งขัน ก่อนที่นักกีฬาไทยจะชนะอย่างขาดลอยไป ๔ ประตู ต่อ ๐ หลังจบการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาเข้าเฝ้า พระราชทานพระหัตถ์ให้นักกีฬาสัมผัส เป็นเกียรติแก่หัวหน้าทีมฟุตบอลสยาม คือขุนประสิทธิ์วิทยกร (ฮก คุปตะวานิช) พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสชมเชยว่าเล่นดีมาก ผู้สำเร็จราชการแห่งแคว้นอินโดจีนเป็นผู้มอบถ้วยรางวัลแก่ทีมฟุตบอลสยาม


นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงถ่ายภาพยนตร์สถานที่สำคัญที่ได้ไปเยือน อาทิ สถานปาสเตอร์ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่ก่อตั้งโดย หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศส และได้ขยายตัวไปในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าทรงทอดพระเนตรการผลิตยารักษาไข้มาลาเรีย, พิพิธภัณฑ์ไกดินซึ่งแต่เดิมเป็นตำหนักเก่าโบราณสถานศิลปะจามโบราณที่เมืองนาตรัง หรือเหตุการณ์น่าสนใจระหว่างการเสด็จฯ เช่น ทอดพระเนตรการรีดนมวัวด้วยมือและการทำเนยในฟาร์มที่เมืองดาลัด ราษฎรชาวมอยส์เข้าเฝ้าเพื่อถวายสิ่งของ และแสดงการใช้หน้าไม้และเต้นรำถวาย ทรงบันทึกภาพยนตร์ชาวมอยส์ที่เข้าเฝ้าด้วยความสนพระราชหฤทัยในเชิงชาติพันธุ์ เมื่อเสด็จไปใกล้เมืองตุริน ทรงประสบอุบัติเหตุรถไฟ ขบวนก่อนหน้านั้นตกรางอยู่ ก็ทรงบันทึกเหตุการณ์ไว้ในเชิงข่าวอีกด้วย


ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นี้ มีคุณค่าทำนองเดียวกับพระราชหัตถเลขา “ไกลบ้าน” ในพระพุทธเจ้าหลวง เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชนิพนธ์ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์แทนที่จะเป็นปากกา


หมายเหตุ

ข้อมูลปี พ.ศ. ของภาพยนตร์ที่ออกฉายก่อนการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๘๔ จะนับตามปฏิทินแบบเก่า (๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่)

มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด