BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS

ฟิล์ม ๑๖ มม. / สี / เงียบ / ๗.๑๒ นาที

[๒๕๐๑]

ผู้สร้าง สุพจน์ ธวัชชัยนันท์ 


พ.ศ. ๒๕๔๒ พิทักษ์ ธวัชชัยนันท์ ทายาทของ สุพจน์ ธวัชชัยนันท์ นักธุรกิจและนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น ได้นำผลงานภาพยนตร์ของบิดามามอบให้หอภาพยนตร์อนุรักษ์ โดยนอกจากหนังบ้านที่ถ่ายกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัวไว้เป็นที่ระลึก ยังมีหนังอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าสุพจน์ถ่ายขึ้นเพื่อใช้ประกอบกับกิจการธุรกิจของตน หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์ ๑๖ มม. เรื่อง BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS


เนื้อหาของ BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS แบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกประมาณ ๒ นาที เริ่มต้นถ่ายให้เห็นรถบรรทุก “ดีเซล-เฮนเชิล” ของบริษัท Henschel & Son จากประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ภายนอกจนถึงเครื่องยนต์ภายใน ก่อนจะตัดไปเป็นภาพรถโดยสารคันหนึ่งกำลังวิ่งอยู่บนถนนนอกเมือง จากนั้นจึงขึ้นชื่อเรื่องว่า BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS เป็นการเปิดเนื้อหาในส่วนที่สอง ซึ่งถ่ายให้เห็นถึงยานพาหนะประเภทต่าง ๆ ที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร กินเวลาประมาณ ๕ นาที


แม้จะไม่ปรากฏปีที่แน่ชัด แต่จากรหัสบนฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งเป็นตัวระบุปีที่ผลิตฟิล์มจากโรงงาน และพิจารณาจากสภาพรถราบนท้องถนน สันนิษฐานว่าภาพยนตร์น่าจะถ่ายทำในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๑ จากข้อมูลของพิทักษ์ ทำให้ทราบว่าในช่วงดังกล่าวสุพจน์เคยประกอบกิจการรถเมล์ ชื่อบริษัท ส. ธวัชชัยนันท์ โดยนำเครื่องยนต์เฮนเชิลที่ซื้อจากเยอรมนี มาใส่ในโครงรถที่ทำด้วยไม้ ออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารช่วงตลาดพลู-พาหุรัด และมีที่ทำการอยู่ตรงบริเวณที่เป็นห้างสรรพสินค้าไนติงเกล-โอลิมปิคในปัจจุบัน เมื่อเลิกกิจการ สุพจน์ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรการเกษตรด้วย ยังได้นำเครื่องยนต์นี้ไปใช้ประกอบกับรถไถนา


ความโดดเด่นของ BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS อยู่ที่การแสดงภาพรถเมล์ของบริษัทต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสุพจน์ได้ออกตระเวนบันทึกไว้ตามย่านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยในขณะนั้น มีบริษัทได้รับสัมปทานเดินรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่ายี่สิบสาย ทั้งเอกชนและหน่วยงานรัฐ แต่ละบริษัทจะมีรถเมล์ในรูปลักษณ์ต่าง ๆ กัน โดยแบ่งแยกตามสีของแต่ละบริษัท เช่น บริษัทนายเลิศสีขาว บริษัทปากน้ำสีเขียว บริษัทบุญผ่องสีน้ำตาล รถเมล์ของทหารอากาศสีเทา รถเมล์ของบริษัทขนส่งจำกัดสีส้ม ฯลฯ ดังนั้น ชาวกรุงเทพฯ จะเรียกรถเมล์บริษัทต่าง ๆ ตามสีแทนชื่อ เช่น เมล์ขาว เมล์เขียว เมล์แดง เมล์ชมพู เมล์เหลือง ซึ่งได้เห็นเกือบครบทั้งหมดในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในขณะที่รูปลักษณ์ของรถ จะมีทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และที่นำหัวรถบรรทุกมาต่อกับตัวถังโดยสารที่เป็นไม้ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่ค่อยพบในประเทศอื่น ๆ นอกจากตัวรถเมล์แล้ว ภาพยนตร์ยังพลอยบันทึกให้เห็นสภาพของการจราจร และรถรายานพาหนะอื่น ๆ เช่น รถโดยสารขนส่งกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด รถลาก รถเข็น รถสามล้อถีบ รถจักรยาน รถราง รถแท็กซี่ และรถยนต์ส่วนบุคคลหลากหลายแบบ รวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองที่สัญจรในท้องถนนของยุคสมัยนั้น


ปัจจุบัน การเดินทางด้วยรถเมล์หรือรถยนต์ ถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนกรุงเทพฯ จำนวนหลายล้านคน ที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในหนึ่งวันบนท้องถนน ภาพรถโดยสารสาธารณะหลากสีสันเหมือนสีลูกกวาดบนถนน ที่เคยโลดแล่นรับส่งผู้คนเมื่อหลายทศวรรษก่อนใน BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS นี้ จึงเชื้อเชิญให้เราได้ย้อนรำลึกถึงการเจริญเติบโตของระบบขนส่งมวลชน และระบบการคมนาคมในยุคที่เมืองกำลังเริ่มขยายตัว ในขณะเดียวกัน เมื่อวันเวลาผ่านไป ภาพยนตร์ที่สันนิษฐานว่าเริ่มต้นด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจเรื่องนี้ ยังได้แปรสถานะเป็นบทบันทึกสภาพบ้านเมือง โดยเฉพาะพระเอกของเรื่องคือ รถเมล์ไทย ที่ช่วยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเปรียบเทียบว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดในช่วง ๖๐ ปีที่ผ่านมา


หมายเหตุ

ข้อมูลภาพยนตร์ที่อยู่ใน […] หมายถึง ข้อมูลที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานขึ้นเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด