MISS UNIVERSE BEAUTY PAGEANT

พ.ศ. ๒๕๐๘

ความยาว ๒๘.๐๒ นาที

ฟิล์ม ๑๖ มม. / ขาว-ดำ / เสียง

          ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สำคัญของไทยกับการคว้ารางวัลผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลกหรือรางวัลนางงามจักรวาลครั้งที่ ๑๔ (MISS UNIVERSE BEAUTY PAGEANT ๑๙๖๕) ของ อาภัสรา หงสกุล ตัวแทนสาวไทย ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองไมอามี่ มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีตัวแทนสาวงามได้รับรางวัลนี้ หลังจากประเทศไทยได้ส่งนางงามเข้าประกวดมาก่อนหน้านี้ ๒ คนคือ อมรา อัศวนนท์ ในปี ๒๔๙๖ และ สดใส พันธุมโกมล ในปี ๒๕๐๒

          ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มม. ที่ทางหอภาพยนตร์ได้รับบริจาคมาจาก วิจิตร คุณาวุฒิ ซึ่งตัวภาพยนตร์คาดว่าจะเป็นภาพที่บันทึกจากการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ CBS ในสหรัฐอเมริกา และสำนักงานภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ของไทย (ชื่อสำนักงานที่ปรากฏในภาพยนตร์) ได้รับลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อมาอีกที โดยภาพยนตร์จะมีลักษณะของการย่นย่อตัดต่อช่วงสำคัญต่าง ๆ ของคุณอาภัสราที่เกิดขึ้นในการประกวด เริ่มตั้งแต่ช่วงแนะนำผู้เข้าประกวดแต่ละประเทศ โดย แจ็ค ลินแกล็ตเตอร์ (Jack Linkletter) พิธีกรในงาน ต่อด้วยการประกวดชุดประจำชาติ การเดินประกวดในชุดว่ายน้ำและเข้าสู่การประกาศผล ๕ คนสุดท้ายที่จะได้เข้ารอบสัมภาษณ์เพื่อชิงมงกุฎ โดยนางงามที่ได้เข้ารอบ ๕ คนสุดท้ายนั้นได้แก่นางงามจากประเทศ ฟินแลนด์ ฮอลแลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา และไทย

          ในรอบสัมภาษณ์แม้อาภัสราจมีปัญหาในเรื่องของภาษาบ้าง แต่เธอก็ยังยิ้มแย้มและพยายามตอบคำถามได้จนจบ ต่อจากนั้นจึงเป็นการแสดงขับร้องบทเพลงโดย แพท บูน (Pat Boone) นักร้องชื่อดังชาวอเมริกัน ท่ามกลางสาวงามที่เข้าประกวดแล้วมีการเชิญ โครินน่า โทเป (Corinna Tsopei) นางงามจักรวาลในปีก่อน จากประเทศกรีซ มาเป็นเกียรติในการมอบมงกุฎให้แก่นางงามจักรวาลในปีนี้ จากนั้นพิธีกรจึงได้เริ่มประกาศผลรางวัลนางงามจักรวาล จนเหลือเพียง ๒ คนสุดท้ายคือ อาภัสรา หงสกุล กับนางงามจากประเทศฟินแลนด์ วิรปิ ลีซา มิเอ็ตติเน็น (Virpi Liisa Miettinen) ซึ่งก็เป็นอาภัสราที่ได้รับรางวัลนางงามจักรวาลไปครองได้สำเร็จในปีนั้น

          ภาพยนตร์การประกวดนางงามจักรวาล ๒๕๐๘ นับเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของไทย เพราะเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกและเป็นเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงในสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะหลังจากที่อาภัสรารับตำแหน่ง ประเทศไทยก็ต้องว่างเว้นไปจากรางวัลดังกล่าวอีกกว่า ๒๓ ปี ก่อนที่ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก จะได้รับรางวัลอีกครั้งในปี ๒๕๓๑ ซึ่งทำให้เกิดโรคเห่อภรณ์ทิพย์ในสังคมไทย และหลังจากนั้นก็ยังไม่มีสาวงามรายไหนของไทยได้รับรางวัลบนเวทีดังกล่าวอีกเลย

          และนอกจากเวทีนางงามจะเป็นการประชันขันแข่งความงามกันแล้ว ในทางประวัติศาสตร์ ยังถูกนำมาพิจารณาถึงความเชื่อมโยงกับการเมืองอย่างหนีไม่พ้น ด้วยข้อสังเกตที่มีนัยยะสำคัญบางประการ โดยเฉพาะกับการได้รับรางวัลของประเทศในแถบเอเชียที่มักจะถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกา เช่น การที่ อากิโกะ โคจิมะ (Akiko Kojima) นางงามจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งนับเป็นนางงามจากเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนางงามจักรวาลในปี ๒๕๐๒ ถูกเชื่อมโยงเข้ากับสงครามเย็น เพราะการได้รับตำแหน่งของเธอนั้นอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯพยายามจะใช้เกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นเป็นฐานทัพในการต้านทานคอมมิวนิสต์จากจีนและโซเวียต เช่นเดียวกับการประกวดในปี ๒๕๐๘ ของอาภัสรา ซึ่งเป็นยุคที่คาบเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม และเป็นเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯได้เริ่มเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย จึงหนีไม่พ้นที่มีผู้พยายามเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ 


มรดกภาพยนตร์ของชาติ

ดูทั้งหมด

Goal Club เกมล้มโต๊ะ

ฟิล์ม 35 มม. / สี /เสียง / 98 นาทีวันที่ออกฉาย               27 เมษายน 2544บริษัทสร้าง      &nb...

อ่านรายละเอียด

สาย สีมา นักสู้สามัญชน

ฟิล์ม 35 มม. / สี / พากย์ / 100 นาทีวันที่ออกฉาย      27 มิถุนายน 2524บริษัทสร้าง    พิฆเณศภาพยนตร์ผู้อำนวยการสร้าง ...

อ่านรายละเอียด

วิมานดารา

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง /  141 นาทีวันที่ออกฉาย 19 มกราคม 2517บริษัทสร้าง            เทพชัยภาพยนตร์ผู้กำกับ&nbs...

อ่านรายละเอียด

ทอง

ฟิล์ม 35 มม. / สี / เสียง / 113 นาทีฉายครั้งแรก               22 ธันวาคม 2516บริษัทสร้าง   ...

อ่านรายละเอียด